ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกของ ming sambie




วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเตรียมตัวและการเข้าห้องสอบ



เริ่มตรงไหน ผลการสอบถึงจะดี ทุกคนคงเคยชินกับการสอบ แต่มีน้อยคนที่ทำข้อสอบได้ดี สิ่งสำคัญที่จะทำการสอบของคุณได้ผลดีมี 3 ประการ ด้วยกันนั่นคือ
·       คุณต้องเข้าใจเนื้อหาบทเรียน
·       คุณต้องจำมันได้ดี  และ
·       คุณต้องเขียนบรรยายได้ชัดเจน
 มันคล้ายกับการเขียนดังกล่าวมาแล้วในบทก่อนแต่ต่างกันตรงที่ว่า เวลาคุณทำข้อสอบคุณต้องจำมันได้ระลึกเนื้อหาที่คุณเรียนผ่านมาแล้วได้  และสามารถเรียบเรียงการเขียนออกมานเวลาอันสั้นเท่านั้นเอง  จริงๆแล้วการเตรียมตัวดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ต้นปีหรือต้นเทอมแล้ว ก็ด้วยการทำบันทึกและโน้ตย่อต่างๆ นั่นเอง ถ้าเราให้ความสำคัญกับมันเสียตั้งแต่ตอนนั้น และทำอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งทดสอบตัวเองด้วนโจทย์แบบฝึกหัดทั่วๆไป พอนานๆ เข้าความชำนาญจะสะสมไปเองโดยปริยาย  การอ่านหนังสือเฉพาะบทหรือเฉพาะเรื่องควรทำไปเรื่อยๆตลอดทั้งปี ยิ่งกว่านั้นอ่านให้กว้างและมากขึ้นกับหัวข้อนั้นๆ มันจะทำให้พื้นฐานของคุณแน่นขึ้นการมีพื้นฐานที่ดีนี้เองจะช่วยให้คุณพลิกแพลงการตอบไปได้มากมาย
ควรอ่านอะไร
      นักศึกษาจำนวนมากเริ่มอ่านตั้งแต่บทนำ และอ่านไปเรื่อยโดยไม่สามารถแยกออกว่าประเด็นไหนสำคัญ เรื่องไหนควรเน้นและเรื่องๆไหนควรข้ามไป มีบางตอนของเนื้อหาที่เราสามารถตัดมันออกไปได้ถ้าไม่สำคัญเท่าใดนัก ข้อสำคัญคุณต้องสามารถบอกตรงไหนการอ่านมันเสียหมดเป็นการเสียเวลาอย่างมาก และยิ่งกว่านั้นจะทำให้คุณเบื่อ ล้า และสับสน
 การเรียนในมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยโดยทั่วไป จะเป็นการทำความเข้าใจหลักของวิชานั้นๆ อาศัยอ่านข้อมูลปลีกย่อยเป็นตัวเสริมเน้น  สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำความเข้าใจเนื้อหา หลักของวิชานั้นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และขณะเดียวกันก็ทดสอบตัวเองด้วยโจทย์หรือการตั้งคำถามต่างๆ จากนั้นก็จดบันทึกความจำการบันทึกจะเป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่าเราเข้าใจเพียงใด
      วิธีที่จะหาประเด็นสำคัญของแต่ละวิชา ก็คือการอ่านอย่างคร่าวๆ ให้ผ่านตาไปในรอบแรก จากนั้นจะทำให้เรารู้ตำแหน่งของเนื้อหา แล้วจึงค่อยย้อนกลับมาอ่านให้ละเอียดพร้อมทั้งขีดเส้นใต้ใจความสำคัญ แล้วทำการโน้ตไว้ เมื่อเราอ่านผ่านไปมาก ๆ พร้อมกับการโน้ตย่อนานๆ เข้าโน้ตเราจะเพิ่งจำนวนมากขึ้น คราวนี้กลับมาอ่านแต่โน้ตก็พอแล้วทางที่ดีที่สุด ควรทำโน้ตจิ๋วจากโน้ตย่อของเราอีกครั้ง จะทำให้โน้ตของเราเล็กลงพกไปไหนมาไหนสะดวกดีด้วย เมื่อเราอ่านเข้าใจเนื้อหาของหนังสือจบหมดแล้ว บางครั้งก็มีความจำเป็นจะต้องอ่านหนังสือเพิ่มเติมไปด้วย เพื่อความเข้าใจกว้างขึ้น บางครั้งการศึกษาข้อสอบเก่าๆ ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องตรวจสอบคำตอบที่ถูกต้องเสียก่อน และอย่ามั่นใจว่าอาจารย์ออกข้อสอบแบบเดิมอีก การหักมุมข้อสอบเกิดขึ้นได้เสมอ  สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ควรศึกษาทบทวนเนื้อหาต่างๆ ที่เรามีและที่โน้ตไว้แล้วนั่นเอง
เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
       การเรียนถ้าจะให้ดีต้องมีแรงจูงใจ แรงจูงใจจะเป็นพื้นฐานสำคัญของความกระตือรือร้น ความตั้งใจ และบรรยากาศในการเรียนจากการวิจัยเกี่ยวกับความจำของ แอมบาสเดอร์ คอลเลจ (Ambassador College) พบว่าคนส่วนมากลืมเกือบจะหนึ่งในสามของเนื้อหาที่เรียนภายใน 1 ชั่วโมง ทั้งนี้เพราะขาดแรงจูงใจในการเรียน แม้ว่าเราจะมีแรงจูงใจที่จะเรียนและมีความจำที่ดีแล้วยังไม่พอหรอกนะ คุณยังต้องมีวิธีเรียนที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งประกอยด้วย 3 สิ่ง คือ การรวบรวมเนื้อหาที่ดี  วิธีเรียนที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารเวลาที่เหมาะสมปราศจาก 3 สิ่งนี้แล้ว เรียนอย่างมีประสิทธิภาพจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน
วิธีรวบรวมและสรุปเนื้อหา
        การรวบรวมเนื้อหาเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่นำไปสู่การเรียนที่ดีเราเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเนื้อหาต่างๆ เสียก่อนแล้วพยายามโยงเนื้อหาแต่ละบทแต่ละตอนสัมพันธ์กันให้ได้ ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดของวิชา จากนั้นหยิบประเด็นหลัก ๆ ที่เป็นพื้นฐานออกมาพิจารณาเพื่อให้เกิดความถ่องแท้ แล้วเราจะเข้าใจประเด็นสำคัญรองลงไปโดยปริยายการทำความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดแล้ว ต่อไปก็ย่อเนื้อหาลงให้เหลือน้อยลงๆ  จนกลายเป็นบทสรุปสั้นๆ ในบทสรุปจัดกลุ่มประเด็นสำคัญๆ ที่สัมพันธ์กันไว้ด้วยกันเมื่อกลับมาอ่านประเด็นต่างๆ เหล่านั้นจะทำให้เราหวนระลึกถึงเนื้อหาเรื่องได้โดยตลอดพยายามทำให้ได้เพราะวิธีนี้จะทำให้เราระลึกย้อนหลังได้แม่นยำขึ้น
การระลึกย้อนหลัง
        การเรียนแค่อ่านผ่าน อย่างซังกะตาย ไม่ส่งผลดีเท่าใดนักคุณจะต้องอ่านอย่างสนุก มีชีวิตชีวาอ่านแล้วคิดตามแก้ปัญหาตามไปด้วย นี่ต่างหากที่จะส่งผลดีที่สุด หัวใจสำคัญของการเตรียมตัวสอบก็คือ คุณต้องพยายามนึกทบทวนเนื้อหาย้อนหลังให้ได้ เพราะเวลาคุณเข้าห้องสอบ คุณไม่มีสมุดโน้ตอยู่ด้วยนะ อย่าลืม ทางที่ดีคุณควรทำโน้ตจิ๋ว จากสมุดเลคเชอร์ของคุณ บันทึกประเด็นต่างๆ ไว้ให้ครบถ้วนในโน้ตจิ๋ว หลังจากนั้นเก็บสมุดโน้ตของคุณเข้าชั้นหนังสือได้ เมื่อคุณกลับมาอ่านวิชานี้อีกทีอ่านจากโน้ตจิ๋วแล้วพยายามนึกทบทวนไปสู่เนื้อเรื่องทั้งหมดขจัดข้อบกพร่องต่างๆ อาทิ อ่านแล้วนึกไม่ออก ก็กลับไปเปิดดูในสมุดโน้ตใหม่แบบนี้เรื่อยๆไปจนกว่าจะสามารถจำเกือบทั้งหมด ทีนี้คุณก็จะมาถึงจุดที่เกือบจะจำได้อย่างสมบูรณ์แล้ว แต่อย่าลืม อ่านแล้วอ่านอีก อ่านซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ ครั้งแล้วคุณจะเรียนรู้ว่าความเข้าใจมันซึมซับเข้าไปในตัวของคุณได้เองทีเดียว
       ในขณะที่คุณกำลังใช้สมองนึกทบทวนเนื้อหาวิชาอยู่นั้น ระวังอย่าให้เกิดความเครียด หรือกังวลใจโดยเด็ดขาดขจัดมันออกไปเสียให้หมด มิฉะนั้นจะระลึกได้ไม่ดีเท่าที่ควร คุณจะมีสมาธิขึ้น  ถ้าอ่านไปคิดตามและเขียนบันทึกควบคู่ไปด้วยการเตรียมตัวของคุณจะง่ายเข้าถ้าคุณแบ่งเนื้อหาออกเป็นบทๆ แม้เนื้อหาในบทที่ 1 และบทที่ 2 จะมีส่วนซ้ำกันอยู่บ้างก็ไม่แปลกเป็นการดีเสียอีกเพราะจะทำให้เราเข้าใจดีขึ้น แล้วส่วนที่ต่างกันก็จดบันทึกเอาไว้  เราจะพบว่ายิ่งเรียนมากก็ยิ่งจะต่างออกไปมากนี่แหละคือ ความรู้ แม้แต่การทบทวนในแต่ละตอน แต่ละบท ก็ควรใช้วิธีที่ต่างกันออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซากจำเจ ลองทำเหมือนกับคุณเป็นผู้บรรยายเสียเองสิ เขียนไปด้วยอธิบายไปด้วย ตอบปัญหาไปด้วย แล้วคุณจะพบว่าคุณมีความเข้าใจดีขึ้น และจะจำได้นานที่เดียว หรือไม่ก็อาจลองใช้วิธีนี้ดู คำศัพท์เฉพาะที่คุณต้องการจำให้ได้  ถ้ามันเกิดยาวมากและมีหลายๆ ข้อก็ลองย่อเอาแต่ตัวอักษรตัวแรกมาเรียงกันดู แล้วก็สร้างคำใหม่ ในอักษรย่อนั้นอาจเป็นคำที่มีความหมาย หรือไม่มีก็ได้แต่คุณแน่ใจ พอคิดถึงคำนั้นแล้วคุณสามารถนึกย้อนไปถึงคำและความหมายนั้นๆได้
การบริหารเวลา(ท่องหนังสือ)ก่อนสอบ
       นักศึกษาบางคนหลงตัวเองเสียเหลือเกิน คิดว่าอ่านหนังสือรอบเดียวแล้วจะจำได้หมด มันเป็นไปไม่ได้หรอกนะ บางคนอ่านแค่ครั้งหรือสองครั้ง แล้วในเวลาต่อมาเพียง  2-3 วัน เขาก็อาจลืมได้เกือบทั้งหมดเช่นกัน ถ้าเขาไม่หมั่นทบทวนและระลึกย้อนบ่อยๆ อ่านหนังสือให้สม่ำเสมอได้สำเร็จทีเดียว  หลังจากฟังบรรยายมาแล้วคุณก็อ่านทบทวนเนื้อหาเสียเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น วันต่อ ๆ มาก็ค่อยๆนึกทบทวนย้อนหลังถึงบทที่คุณอ่านจับประเด็น หรือใจความสำคัญหรอกนะ ข้อสำคัญคุณจะต้องมีเวลาให้กับบทต่อ ๆไป ของคุณด้วยซึ่งมันเพิ่งขึ้นทุกวัน ทุกสัปดาห์ และทุกเดือน ฉะนั้นอย่าเสียเวลากับบทใดบทหนึ่งโดยเฉพาะ จงแบ่งเวลาให้เท่าๆกัน
      ในการท่องหนังสือแต่ละครั้ง ควรรู้จักแบ่งเวลาบ้าง จะไม่เครียดมากเกินไป คุณลองตั้งเป้าหมายไว้แบบนี้ อ่านเสีย 1 บท หรือ 1 ตอน แล้วก็ให้รางวัลแก่ตนเองเสียครั้งหนึ่ง ด้วยการทานขนมหรือกาแฟสักถ้วย แล้วกลับมาอ่านบทต่อไปอีกวิธีนี้จะช่วยลดความเซ็งและความตึงเครียดได้ ข้อสำคัญ อย่าพักผ่อนและรับประทานเสียจนเพลิงล่ะ คุณจะมีปัญหาเรื่องความอ้วนตามมา จากนั้นก็กลับมาทบทวนสิ่งที่เคยอ่านไปแล้ว การทบทวนจะตรงข้ามกับการอ่านหรือท่องหนังสือ ถ้าคุณทบทวนหนึ่งบท แล้วพักสักครั้งหนึ่งแบบนี้ เสียเวลาแย่ และที่สำคัญไม่ได้เนื้อหาด้วย ฉะนั้นในขั้นทบทวนนี้ให้กระทำต่อเนื่องให้จบเป็นเรื่องเป็นราวไปแล้ว พยายามเก็บเนื้อหาให้จบเสียทีเดียว  การอ่านหรือนึกทบทวนไม่ใช้เวลามากนักเท่ากับการอ่านจับใจความสำคัญอยู่แล้ว  เพราะไม่อ่านทุกตัวอักษรในขั้นนี้น่าจะทำให้เร็วกว่าการอ่านมาก การเรียนถ้าจะให้ดีคุณต้องขยันหมั่นเพียร ต้องอ่านมากๆ คนที่อ่านหนังสือ 1ชั่วโมง กับคนที่อ่านทั้งวัน ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เท่ากันหรอกนะ ฉะนั้น ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในการเรียน ควรอ่านหรือท่องตำราให้สม่ำเสมอ อย่างนี้ถึงเรียกว่า เรียนเป็น
  การยัดเยียดความรู้เพื่อจำได้ก็จำเป็นเช่นกัน แต่เราจะกระทำก็ต่อเมื่อวินาทีสุดท้ายก่อนเข้าห้องสอบเท่านั้น ซึ่งแน่นอนเราจะมีเวลาจำกัดเสียเหลือเกิน การท่อง ๆ อัดเข้าไปแบบนี้ น่าจะเป็นเรื่องของการทบทวน นึกย้อน ประเด็นสำคัญ ๆ หรือหัวใจสำคัญของเนื้อหาวิชานะ มิใช่เป็นการอ่านเพื่อหาประเด็นสำคัญ หรือประเด็นหลักสองอย่างนี้แตกต่างกัน ถ้าคุณกำลังจะเข้าห้องสอบคุณยังมาตั้งต้นอ่านเพื่อจับใจความเสียเวลาเปล่าวิธีนี้ไม่เกิดประโยชน์เลยนะ แต่ก็แปลกวิธีนี้ กลับเป็นที่นิยมกันมากในระดับมหาลัย หรือวิทยาลัย การกระทำดังกล่าวนี้ไม่ใช่การเรียนที่แท้จริงเลย เป็นการเรียนเพียงแค่สอบผ่านเท่านั้น มันไม่ซึมซับเข้าไปในจิตใจคุณหรอก การเรียนในระดับนี้แล้วน่าจะมีความหมายที่สูงส่งกว่าการสอบผ่านแน่ๆ หรือคุณว่าไง นักศึกษาจำนวนมาก “ลุ้น” ก่อนเข้าห้องสอบ ทั้งนี้เพราะตัวเขาไม่มีความพร้อม อาทิ เพลิดเพลิงกับกิจกรรม จีบสาว เที่ยวเตร่มากเกินไป พอจะถึงวันสอบก็มานั่งอ่านหนังสือตลอดทั้งคืน ไม่ดีทั้งความจำและสุขภาพ ถ้าคุณอ่านไปแล้วไม่เข้าใจ จะไปถามใคร อะไรๆ ก็ไม่สะดวก ทั้งนั้น และในการสอบ ถ้าสอบ 1 วิชา แล้วเว้นไปอีก 2 วันก็พอทำเนา คุณยังลุ้นทั้งคืนโต้รุ่งได้ แต่ถ้าต้องสอบทุกวันแล้วคุณต้องโต้รุ่งทุกวันร่างกายและสมองก็คงหล้า เฉื่อยแน่ บางคนถึงต้องใช้ยา หรือกาแฟ เพื่อบังคับตัวเองไม่ไห้ง่วงนอน  แบบนี้พอห้องสอบรับรอง จอดป้าย มีอาการวิงเวียน หน้ามืดตาลาย  สับสน  มีบางคนต้องขออนุญาตออกจากห้องสองกลางคัน ทั้งที่ทำข้อสอบยังไม่เสร็จคุณคงไม่เป็นแบบนี้  อีกทั้งการอ่านหนังสือตลอดทั้งคืน  กับการอ่านอย่างสม่ำเสมอ  ผลย่อมไม่เหมือนกัน  การโต้รุ่ง มีสิ่งรบกวนจิตใจนั่นคือการสอบ แต่การอ่านอย่างสม่ำเสมอ  ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องใดๆ  เลย สมาธิมีได้มากกว่ากันและจำได้ดีกว่าด้วย
      การทุจริตหรือ.....ไม่ควรจะมีเป็นอย่างยิ่งในระดับนี้  คนที่ทุจริตในเวลาสอบมักจะเป็นคนที่ขาดความเชื่อมั่น  ความภาคภูมิใจเป็นคนที่ดูถูกตนเอง ดูถูกผู้บรรยายและผู้คุมสอบ แม้คุณจะจบออกไปโดยวิธีนี้  คุณก็จะไม่ประสบผลสำเร็จในชีวิตและการงานเลย  ใครๆ ๆเขาจะมองว่าคุณเป็นคนน่ารังเกียจ เห็นแก่ตัว  ถ้าคุณถูกจับได้ล่ะ จงล้มเลิกความตั้งใจที่จะทุจริตเสียเถิด  ไม่มีประโยชน์หรอก จำไว้ว่าจุดมุ่งหมายของการเรียน  ไม่ใช่พียงแค่สอบผ่าน  มันมีความหมายมากกว่านั้น
การลดความเครียดก่อนสอบ
       มีนักศึกษาจำนวนมากที่ “ตื่นห้องสอบ”ทั้งๆ ท่องจำมาอย่างดี  แต่พอเข้าห้องสอบก็ตกใจจนลืมหมด  ก็น่ากลัวอยู่หรอกเพราะบรรยากาศในห้องสอบแสนจะวังเวงบีบคั้นจิตใจได้ดีเสียเหลือเกินแต่เราควรคิดเสียว่า  การทดสอบไม่ใช่ทดสอบความรู้เพียงอย่างเดียวแต่ยังรวมถึงการทดสอบความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของเราด้วย  ถ้าควบคุมอารมณ์ไม่ได้  ที่เรียนมาก็สูญเปล่า  คนประเภทนี้น่าสงสาร ทางแก้ไขก็คือ ทำสมาธิให้จิตใจจดจ่ออยู่กับข้อสอบ  อย่าวอกแวก คุณต้องมั่นใจในตนเอง เพราะเวลาอ่านทบทวนคุณก็ทำได้นี่น่า ตอนสอบก็น่าจะทำได้ด้วย มันไม่น่าต่างกันมากนัก แต่ถ้าคุณทำใจแล้ว ทำสมาธิแล้ว ก็ยังมีอาการหวาดกลัว และตื่นตระหนกอยู่ลองทำอย่างนี้ดู หนึ่งเดือนก่อนสอบลองทดสอบตัวเองดูเสียก่อนโดยสร้างบรรยากาศให้เหมือนห้องสอบ แล้วนั่งทำข้อสอบดู วิธีนี้จะช่วยให้คุณคุ้นเคยกับบรรยากาศห้องสอบแต่ถ้าทำแล้วยังขจัดปัญหาไม่ได้ ก็ลองคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา เขาอาจจะมีคำแนะนำดีๆ อย่างที่คุณคิดไม่ถึง ดูเหมือนจะเป็นหนทางสุดท้ายแล้ว ถ้าจะให้ดีลองช่วยตัวเองก่อน ดึงความสามารถของเราออกมาใช้ ก่อนที่จะซมซานไปพึ่งผู้อื่น
       ส่วนมากก่อนสอบ 4-5 ชั่วโมงนักศึกษาส่วนใหญ่จะมีอาการตื่นเต้นมาก บ้างก็พยายามแก้โดยการอ่านตำราซ้ำไปซ้ำมา บ้างก็วิ่งลนลาน  ไปติววิชากับเพื่อนยังกับหนูติดจั่น กระทำเช่นนี้ไม่เป็นผลดีมากนัก เพราะจะทำให้เกิดความสับสน และวิตกกังวล การอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ดีหรอกแต่อาจเป็นสาเหตุของการสะสมอาการตื่นเต้นมากขึ้นก็ได้ พอเข้าห้องสอบจริงๆ เลยลืม หรือการติวกับเพื่อนๆ ถ้าเผอิญเจอเพื่อนที่แตกฉากกว่า รู้มากกว่า คุณอาจใจเสีย และเป็นกังวลเพิ่มมากขึ้น  สิ่งเหล่านี้จะรบกวนจิตใจของคุณได้ดีทีเดียว โดยทั่งๆไปเวลาไม่กี่นาทีก่อนสอบ จะไม่ส่งผลต่อการจำมากนัก ฉะนั้นอย่ามัวมานั่งรีบท่องอยู่เลย สู้เอาเวลานั้นมาเตรียมอุปกรณ์สำหรับเข้าห้องสอบให้พร้อม ดูแผนผังที่นั่งสอบและเช็ดดูบัตรประจำตัวคุณเสียดีกว่า อย่าลืมทำจิตใจว่างก่อนเข้าห้องสอบด้วย
การทำข้อสอบ
        ในเวลาสอบจะมีเพียงคุณกับข้อสอบอยู่บนโต๊ะเท่านั้นไม่มีสมุดโน้ตและตำราให้คุณเปิดอ่านเมื่อติดขัด ในตอนนี้ความจำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด คุณต้องพยายามนึกทบทวนเนื้อหาต่างๆ ที่ผ่านมาให้ได้แล้วกลั่นกรองเขียนลงไปในข้อสอบ วิธีการเขียนเพื่อสอบข้อสอบก็คล้อยๆ การเขียนเรียงความ หรือบทความนั่นแหละ
      ขั้นแรกอ่านคำสั่งเสียก่อน ดูให้ถี่ถ้วนว่าเขาให้ทำอะไรบ้างให้ทำทั้งหมดหรือให้เลือกทำ และในหัวข้อให้เลือก มีตัวเลือกอีกหรือไม่ต้องเช็คดูให้ดีอย่าสะเพร่าเมื่อเลือกทำข้อใดแล้ว ต้องศึกษาโจทย์หรือคำถามเสียก่อนดูให้เข้าใจว่าเขาต้องการอะไรถ้าจะให้ดีขีดเส้นใต้คำหรือข้อความที่เป็นคำสั่งไว้ เมื่อทราบความต้องการของผู้ออกข้อสอบแล้วค่อยลงมือทำขอเตือนว่าอย่าเลินเล่อ รีบเขียนรีบเสร็จโดยปราศจากการวางแผนคิดทบทวน เพราะจะทำให้คุณเสียคะแนน
     การตอบคำถามที่ดีควรมีการวางแผน วางเค้าโครงที่จะเขียนตอบเสียก่อนเขียนโดยเฉพาะการตอบคำถามแบบอัตนัย เป็นสิ่งจำเป็นมากการวางแผนการเขียน จะช่วยให้การตอบดี รัดกุม  และชัดเจนขึ้นพยายามนึกเสียก่อนว่าเรื่องอะไรควรเขียนก่อน-หลัง จะเขียนในโคปกว้าง-แคบเท่าใด นอกจากนั้นการวางแผนจะทำให้การเขียนตอบไม่วกวนไปมา พายเรืออยู่แต่ในอ่าง
     ในขณะที่สอบอย่าปล่อยให้สมองว่าง จงพยายามคิดและเขียนคำตอบออกมาให้ได้ การใช้เวลาในการเขียนตอบแต่ละข้อนานเท่าใด มันขึ้นอยู่กับการแบ่งเวลาของคุณ อย่าเสียเวลาทำข้อใดข้อหนึ่งนานเกินไป จนต้องละทิ้งข้ออื่น หริตอบแต่เพียงสั้นๆ แบบนี้ไม่ดีแน่ ทางที่ดีคุณควรให้ความสำคัญกับทุกข้อ เว้นเสียแต่คุณจะคิดบางข้อไม่ออกจริงๆ
     ลายมือก็เป็นสิ่งสำคัญนะคุณ ลายมือที่อ่านยากแถมไม่เป็นระเบียบไม่ได้คะแนนมาหรอก เพราะอาจทำให้อ่านไม่ออกเลยไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณพยายามอธิบาย ควรหลีกเลียงการเขียนแบบเขี่ยๆ บนเศษกระดาษ เวลาเขียนตอบต้องประณีต บรรจง มีระเบียบ การวางแผนการเขียนที่ดี จะช่วยเสริมให้การทำงานของคุณเป็นระเบียบได้มาก ในขณะที่เขียนตอบ คุณต้องแยกแยะประเด็นสำคัญๆ โดยเขียนเรียงลำดับหมายเลข หรือใส่หัวเรื่องแต่ละประเด็นให้ชัดเจนการเขียนแบบเรียงความเต็มพรึดไปมดสวยงามแล้วยังต้องมานั่งอ่านจับใจความคุณ แบบนี้ลำบาก ถ้าคำถามของคุณเป็นแบบ ให้เลือกทำ จงอ่านรอบแรกคร่าวๆ ก่อน แล้วเลือกทำข้อที่ถนัดและคิดว่าทำได้ดีที่สุดข้อใดทำไม่ได้ก็ข้ามไปก่อน แล้วจึงย้อนกลับมาอ่านอีกครั้ง อย่าเสียเวลากับข้อที่ถนัดมากเกินไป จะทำข้อสอบไม่ทัน หลังจากที่สอบเสร็จแล้วหลายคนชอบวิ่งแจ้นไปขุดคุ้ยโน้ตมาอ่านเช็คว่าตอบถูกหรือเปล่า พอดูแล้วก็เกิดความกังวลและไม่สบายใจเลยพาลไม่มีใจสอบวิชาต่อไป สู้เอาเวลาอย่างว่าทำใจให้สบายเตรียมสอบวิชาต่อไปจะดีกว่า ถือเสียว่าแล้วก็แล้วกันไปคราวหน้าแก้ตัวใหม่ก็แล้วกัน

                                                                  แหล่งข้อมูลจาก
อุรวดี รุจิเกียรติกำจร . วิธีเรียนอย่างมีคุณภาพ . กรุงเทพฯ : ข้าวฟ่าง , 2552